ผ้าทอมือเกาะยอ กลุ่มร่มไทร

Product Description

 

ผ้าทอเกาะยอ หรือผ้าเกาะยอ เป็นผ้าทอพื้นเมืองของตำบลเกาะยอ อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา ที่มีมานานย้อนไปได้ตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี โดยคนที่อพยพมาในช่วงแรกซึ่งมีเชื้อสายจีนเป็นผู้นำอาชีพการทอผ้ามาสอนชาวบ้านในบริเวณนั้น ระยะแรกใช้วิธีการทอด้วยกี่มือที่มีโครงสร้างเป็นไม้ไผ่ และใช้ ตรนแทนลูกกระสวย ลักษณะของผ้าทอที่ได้ยังเป็นผ้าพื้นเรียบๆ ไม่มีลวดลาย เนื่องจากทอใช้กันในครัวเรือนหรือเพื่อแจกจ่ายให้ญาติมิตร จนมาถึงสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลายมีการติดต่อค้าขายกับชาวต่างชาติ วัฒนธรรมการทอผ้าถูกถ่ายทอดเข้ามาทำให้รูปแบบการทอผ้าเปลี่ยนไปเป็นแบบยกดอกชนิดต่างๆ ซึ่งลายที่พบในปัจจุบันมีทั้งแบบโบราณและแบบประยุกต์

เอกลักษณ์ของผ้าเกาะยอที่ทอเป็นลายเล็กๆ จึงเป็นเหตุให้ผู้ทอต้องมีสมาธิสูงมากในการทำดอกผ้าแต่ละดอก เพราะไม่อย่างนั้นลายที่ควรจะได้ออกมาเป็นดอกกลมๆ อาจบิดเบี้ยวเหลืออยู่เพียงซีกเดียว ส่วนชื่อเรียกลวดลายของผ้าส่วนใหญ่มักตั้งชื่อกันง่ายๆ ตามลักษณะที่ดูคล้ายคลึงกับพืชพรรณไม้ที่พบเห็นได้ทั่วไป เช่น ลายดอกพยอม ลายดอกรสสุคนธ์ ลายพริกไทย ลายลูกหวาย แต่บางครั้งก็ตั้งชื่อตามชื่อของผู้คิดลาย เช่น ลายโกเถี้ยม

มีทั้งการศึกษาวิจัยและพัฒนา เช่น ใช้เส้นใยไหมผสมฝ้ายและใยบัวหลวงผสมฝ้ายทอสลับกันทำให้เกิดลวดลายชัดเจนสวยงามมีมิติขึ้น สร้างสรรค์ลวดลายใหม่โดยที่ไม่ทิ้งลวดลายเดิม ไปจนถึงการแปรรูปผลิตภัณฑ์ให้มีคุณสมบัติพิเศษมากขึ้นเพื่อเพิ่มความหลากหลายและสร้างมูลค่าเพิ่ม เช่น ผ้าพันคอ กระเป๋า กล่องทิชชู กล่องใส่ดินสอ กล่องสมุดโน้ต กรอบรูป ชุดผ้าปูโต๊ะอาหารที่มีเทคโนโลยีการสะท้อนน้ำทำให้ไม่เปรอะเปื้อน ซักออกง่าย และการพัฒนาคนให้มีความรู้ความเข้าใจในอาชีพแบบบูรณาการ เพื่อไม่ให้เกิดการสูญหายทางศิลปวัฒนธรรม